อะไรคือ? Feels like อุณหภูมิตามความรู้สึก

คนที่มีแอพฯ / วิดเจ็ตรายงานสภาพอากาศบนมือถือ คงเคยเห็นคำว่า ‘Feels like’ (บางแอพฯ ใช้คำว่า ‘RealFeel’) และอาจไม่ได้สนใจอะไร นอกจากตัวเลขอุณหภูมิปกติ (Temperature) ที่เป็นตัวเลขใหญ่สุดบนหน้าจอ
และนั่นเป็นแค่ค่าที่วัดได้จากเครื่องวัด / ปรอท แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เราควรรู้อีกอย่าง คือ อุณหภูมิที่วัดจากร่างกาย
จนกลายเป็นที่มาของคำว่า Feels like หรือ 'อุณหภูมิตามความรู้สึก' ซึ่งมักจะขึ้นโชว์พร้อมกับอุณหภูมิจากเครื่องวัด
แอคคิวเวเธอร์ (AccuWeather) ผู้ให้บริการข้อมูลสภาพอากาศชื่อดังของ สหรัฐฯ อธิบายถึง ตัวเลขของ RealFeel หรือ Feels like ไว้ว่า
"มาจากคำนวณค่า ของอุณหภูมิ, ความชื้น, ความเร็วลม, รังสีดวงอาทิตย์ รวมถึงปริมาณเมฆปกคลุมด้วย"
ค่าอุณหภูมิตามความรู้สึก (Feels like) มีไว้ให้รับทราบว่า เป็นอุณหภูมิอันใกล้เคียงความจริงที่ร่างกายของคุณจะได้สัมผัส
หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นอุณหภูมิที่ผิวหนัง จะรู้สึกได้จริงก็ได้
เช่น อุณหภูมิในบางที่ บางวัน อาจอยู่ที่ 36 องศา เท่ากัน แต่ Feels like อาจแตกต่างกันเป็น 42 หรือ 44 องศา
อารมณ์คือ เหมือนอากาศร้อนเท่ากัน แต่ให้ความรู้สึกร้อนไม่เท่ากัน ถึงตัวเลขอุณหภูมิหลัก จะชี้ชัดว่า เท่ากันเป๊ะ
สิ่งที่คนทั่วไป จะได้ประโยชน์ นอกจากค่าตัวเลขอุณหภูมิแบบสัมผัสได้จริง เรื่องของ ‘ค่าความชื้น (สัมพัทธ์)’ และ 'ความเร็วลม' ที่ขึ้นโชว์ประกอบกันนั้น
ยังช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่า ควรออกไปทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น 'เล่นกีฬา / ออกกำลังกาย' ดีหรือไม่? ด้วย
อย่างที่รู้ว่า แค่อากาศร้อน ก็แย่แล้ว ยิ่งถ้าในแอพฯ โชว์ว่า มีค่าความชื้นสูง (Humidity) ระดับ 80 - 90% แปลว่า อาจไม่เหมาะที่จะออกไปเท่าไหร่
เพราะเหงื่อที่ออกมามาก (จากอุณหภูมิที่สูง) จะระเหยตัวได้ยาก (ภายใต้สภาวะค่าความชื้นสูง)
จนทำให้ความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวมากกว่าปกติ
และเมื่อร่างกายมีความร้อนสะสมมากเกินไป โรคลมแดด / ฮีทสโตรก อาจแวะมา
แต่ถ้าจะไปจริงๆ ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งเสื้อผ้า, น้ำ และอุปกรณ์ให้ความเย็น
อีกอย่างที่สำคัญ คือ ความเร็วลม (Wind) ซึ่งมีผลกับ Feels like เช่น ถ้าเป็นหน้าหนาว แม้อุณหภูมิจะอยู่ที่ -3 องศา
แต่ Feel like หรือความหนาวที่แท้จริง สำหรับร่างกาย ซึ่งอาจต่ำลงถึง -8 ด้วยความเร็วลมที่สูงในระดับ 20 กม. / ชม. +
สตีฟ คลีตัน ผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศของ บีบีซี พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ยิ่งมีลมแรง และอากาศแห้งเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกหนาวขึ้น
เพราะลม จะพัดเอาความชื้นออกไปจากผิวหนังอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน และทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาอุณหภูมิภายใน
จนเป็นที่มาของคำว่า ‘อุณหภูมิตามที่รู้สึก’ (หรือตามความรู้สึก) ซึ่งแตกต่างจากอุณหภูมิที่วัดได้จริง
แต่กระนั้น ลม ก็เป็นผลดีกับหน้าร้อน ที่จะทำให้รู้สึกสบายตัว จากการช่วยไล่เหงื่อ, ความร้อน จากผิวหนังได้เร็วขึ้น จนร่างกายทำงานเบาลง
ข้อมูลพวกนี้ หาดูได้ไม่ยาก ถ้าไม่มีแอพฯ รายงานสภาพอากาศ ก็ลองไปพิมพ์ค้นหา คำว่า ‘อากาศ’ บน 'กูเกิล' ดูได้
ช่วงนี้ ต้องเช็คสภาพอากาศ ก่อนออกนอกบ้านสักหน่อย อย่างน้อย รู้ Feels like ไว้ ร่างกาย จะได้ Feels good
ขอบคุณข้อมูล และภาพจาก accuweather.com , blog.metoffice.gov.uk, weather.gov, bbc.com, gettyimages.com