นัย ‘แอสซิสต์’ (Assist) เครดิตที่ซับซ้อนกว่าที่คิด

คุณคิดว่าถ้านักเตะ A เปิดลูกเตะมุมให้ B ที่โหม่งชงให้ C ยิงประตูได้ (แบบไม่โดนอะไร) ใครจะได้แอสซิสต์? คำตอบของคำถามนี้ เราเชื่อว่าส่วนใหญ่ น่าจะตอบถูกว่าเป็น B ที่เป็นผู้สัมผัสบอลในจังหวะสุดท้ายก่อนถึง A
แม้ว่าหลักการนี้จะเป็นที่ยึดถือกันในลีกส่วนใหญ่ แต่นั่นยังไม่ใช่คำตอบเดียวสำหรับทุกระบบในวงการฟุตบอล อย่างเช่น ในสหรัฐนั้น ถ้ายึดตามกฎของสมาคมกีฬาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (NCAA) สำหรับกีฬาซอคเกอร์
ฝ่ายจัดการแข่งขันสามารถตัดสินให้ A และ B ได้คนละ 1 แอสซิสต์ไปเลย เรียกว่าได้ทั้งคนเปิด คนโหม่งชง ขณะที่ในลีกชื่อดัง หรือการแข่งขันรายการระดับทีมชาติ ปกติจะมีได้เพียงแค่ 1 แอสซิสต์ ต่อการได้ 1 ประตู
แต่ยังไงก็ตาม ความซับซ้อนของคำว่า ‘แอสซิสต์’ มีมากกว่านั้น แม้จะถูกนิยามลงให้แคบลงทุกวันแล้วก็ตาม
เรื่องเริ่มต้นจาก ฟีฟ่า เอง ที่ได้เริ่มศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องนี้อย่างไม่เป็นทางการ จากฟุตบอลโลก ปี 1986 จนได้ตัวชี้วัดประมาณว่าอะไร? คือการแอสซิสต์ และใครที่ควรจะได้เครติดแบบนี้ไป กับการทำให้ทีมมีประตู
เช่น การยิงประตูจังหวะแรก แต่ยังไม่ได้ จนไปเข้าทางอีกคนในจังหวะที่สอง และสามารถทำประตูได้ในที่สุด ก็ถือเป็นแอสซิสต์ของคนยิงคนแรก, การเรียกฟาวล์ จนได้ฟรีคิก-จุดโทษ แต่ไม่ยิงเอง ก็ถือว่าเป็นแอสซิสต์
แถมยังถูกใช้เป็นตัวช่วยตัดสิน รางวัลรองเท้าทองคำ (ดาวซัลโว) ของ ฟีฟ่า ในฟุตบอลโลก มาตั้งแต่ปี 1994 และเป็นปีที่ ฟีฟ่า เริ่มเก็บข้อมูลแอสซิสต์จริงจัง หลังจากที่สถิติแบบนี้เป็นที่นิยมกับกีฬาอื่น ๆ ในอเมริกาเหนือ
โดยนักเตะคนไหนที่ยิงได้ จะได้ 3 คะแนน และ 1 คะแนนสำหรับการแอสซิสต์ หรือช่วยทำให้ทีมได้ประตูได้มา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ เมเจอร์ ลีก ซอคเกอร์ ใช้สถิติ แอสซิสต์ ช่วยตัดสินรางวัลรองเท้าทองคำของลีกด้วย
รวมทั้งอีกอย่างที่กลายเป็นหลักการสากลในปัจจุบันคือคนที่ส่ง-สัมผัสบอลสุดท้ายก่อนบอลไปถึงคนยิงประตู จะได้แอสซิสต์ไป ซึ่งด้วยความชัดเจน และง่ายต่อการตัดสิน ทำให้หลักการนี้ ถูกใช้กับระบบฟุตบอลทั่วโลก
และเป็นแนวทางให้ลีกดังโซนยุโรป เช่น อังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส ใช้เกณฑ์การให้แอสซิสต์ ผ่านบอลสุดท้าย จากคนส่ง สู่คนยิงประตูโดยตรง แต่มันไม่ใช่อะไรที่ตัดสินได้ง่าย แม้แต่ พรีเมียร์ ลีก ยังเคยชี้แจงในเว็บไซต์
ในปี 2016 พวกเขาพูดถึงการให้แอสซิสต์กับ มาร์คัส แรชฟอร์ด ในเกมเจอ วัตฟอร์ด ที่หลายคนอาจไม่เข้าใจ ว่าทำไมบอลที่แฉลบก่อนได้ประตูแบบนั้น (จาก ซลาตัน อิบราฮิโมวิช) ถึงให้เครดิตคนส่งได้แอสซิสต์ไปเลย
โดย พรีเมียร์ ลีก ให้คำตอบประมาณว่าต้องดูเจตนา และทิศทางของบอล จากคนส่งผ่าน มาให้อีกคนทำประตู ซึ่งกรณีของ มาร์คัส แรชฟอร์ด สรุปคือเมื่อดูจากภาพเหตุการณ์ เขาตั้งใจส่งให้ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช อยู่แล้ว
แม้บอลแฉลบอะไรมาก่อนจนเปลี่ยนทิศทางไปบ้างก็ตาม แต่สุดท้ายบอลไปถึงเป้าหมายอย่างที่คนส่งตั้งใจไว้
นั่นทำให้นึกถึง ‘ธีราทร บุญมาทัน’ ในเกมเจลีกล่าสุด ที่โยนบอลเข้าไป จนทีมได้ประตู แต่ก็ยังไม่ได้แอสซิสต์ คำตอบของเรื่องนี้ เมื่อดูจากเจตนาของแข้งไทย เหมือนว่า เขาอาจไม่ได้ตั้งใจเปิดให้คนที่ยิงประตูได้โดยตรง
แต่มีความพยายามเปิดให้เพื่อนร่วมทีมอีกคนก่อน จนกระทั่งบอลผ่านไปถึงเพื่อนอีกคนแบบไม่ได้ตั้งใจนั่นเอง เรียกว่าน่าเสียดายไม่น้อย แต่ไม่ว่ายังไง ถือว่าอุ้ม ธีราทร ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ไปสู่ประตูแห่งชัยชนะในที่สุด
และถ้าให้สรุปว่า แอสซิสต์ ในปัจจุบันเป็นยังไงแน่? คงพอสรุปได้ว่าเป็นการผ่านบอลให้เป้าหมายจนเป็นประตู โดยอาจไม่ต้องมองว่า โดนใครหรือไม่อย่างไร? ให้ดูที่เจตนาการส่งว่า จงใจเล็งไปที่คนทำประตูตัวจริงหรือไม่
แต่ถ้าเป็นลีกสเปน กับฝรั่งเศส จะมองที่ความชัดเจน และเน้นการส่งบอลให้กันโดยตรง (เหมือนไม่เน้นแฉลบ) นี่ยังไม่รวมจังหวะวัดใจ เช่น ลูกเซ็ตพีท ซึ่งบางครั้ง ยังมีจังหวะแฉลบก่อนได้ประตู จนยากที่จะมองเจตนาออก
ว่าตกลงจะเปิดให้ใครกันแน่ หรือใครควรได้แอสซิสต์? เห็นไหมล่ะ? คำว่า ‘แอสซิสต์’ ดูซับซ้อนกว่าที่คิดจริง ๆ
ขอบคุณข้อมูล และภาพจาก en.wikipedia.org, fs.ncaa.org, premierleague.com, sports.stackexchange.com